อันตรายจาก "ทรามาดอล" หากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
"ทรามาดอล" หรือ "ยาเขียวเหลือง" ยาแก้ปวดมากประโยชน์ในทางการเเพทย์ ที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดในรูปแบบของการเสพติดอย่างแพร่หลายในหมู่วัยรุ่น อันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้
ทรามาดอลคืออะไร?
ยาแก้ปวด "ทรามาดอล" หรือที่นิยมเรียกกันในหมู่วัยรุ่นว่า ยาเขียวเหลือง เป็นยาแก้ปวดที่อยู่ในกลุ่มโอปิออยด์ ใช้บรรเทาอาการปวดในขั้นปานกลางไปจนถึงขั้นรุนแรงทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังที่ยาแก้ปวดชนิดอื่นๆไม่สามารถบรรเทาอาการได้ เช่น อาการเจ็บจากการเกิดบาดแผล กระดูกหัก อาการปวดจากโรคมะเร็ง ซึ่งการใช้ทรามาดอลนั้นไม่ควรใช้ในการบรรเทาอาการปวดเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง
การออกฤทธิ์ของทรามาดอลนั้น มี 2 อย่างคือ
1.กระตุ้น µ(mu) receptors (มิวรีเซปเตอร์) เมื่อได้รับการกระตุ้นจะมีฤทธิ์ลดความปวด และกดการทำงานของระบบประสาท ส่งผลให้มีอาการเคลิบเคลิ้มเช่นเดียวกันกับการออกฤทธิ์ของมอร์ฟีน แต่ความเเรงของทรามาดอลจะน้อยกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า จึงไม่ถูกจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษ
2.ยับยั้งการเก็บกลับของ เซโรโทนิน(serotonin) และ นอร์อีพิเนฟริน(norepinephrine) ซึ่งเป็นสารในสื่อประสาท เมื่อสารสองชนิดนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดการออกฤทธิ์ระงับอาการปวดปลายประสาท
ยาทรามาดอลมีทั้งในรูปแบบชนิดเม็ด ชนิดแคปซูล ยาเหน็บ และชนิดยาฉีด จัดอยู่ในประเภทยาอันตราย และเป็นยาที่สั่งจ่ายภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า ยาทรามาดอลมีฤทธิ์คล้ายกับมอร์ฟีน สามารถทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุขได้ ในกลุ่มวัยรุ่นจึงนิยมนำมาใช้ในวัตถุประสงค์ของการเสพ ชนิดของทรามาดอลที่นิยมใช้ในการเสพคือชนิดเเคปซูล มีลักษณะเป็นสีเขียวเเละสีเหลือง เเม้ว่าจะจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย เเต่ก็เป็นยาที่สามารถขายในร้านขายยาได้ การเข้าถึงยาทรามาดอลจึงเป็นเรื่องที่ง่ายและเกิดการแพร่หลายในกลุ่มนักเรียนหรือนักศึกษา
โดยวิธีการที่นิยมใช้ในรูปแบบของการเสพคือ การนำตัวยาทรามาดอลข้างในแคปซูลสีเขียวเหลืองมาผสมกับนน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มชูกำลัง หรือแม้กระทั่งแอลกอฮอล์ ใช้ดื่มเพื่อให้เกิดอาการมึนเมา เคลิบเคลิ้ม ส่งผลให้ผู้เสพเกิดอาการอยากเสพต่อไปเรื่อยๆ จนเกิดการเสพติด
วิธีใช้อย่างถูกต้องเเละปลอดภัย
ขนาดยาที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดในผู้ใหญ่คือ 50-100 มิลลิกรัม รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง โดยในหนึ่งวันไม่ควรรับประทานเกิน 400 มิลลิกรัม สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนหรือหลังอาหารเนื่องจากไม่กัดกระเพาะเหมือนกับยาแก้ปวดชนิดอื่น แต่หากรับประทานแล้วรู้สึกคลื่นไส้ควรรับประทานพร้อมหรือหลังอาหาร ห้ามแบ่งยาหรือบดเพื่อรับประทาน ไม่ควรใช้ร่วมกับยาแก้เเพ้ อย่างไรก็ตามทางที่ดีที่สุดในการใช้ยาทรามาดอลนั้นควรใช้เมื่อได้รับคำสั่งยาจากเเพทย์ และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น
อันตรายจาก "ทรามาดอล" หากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
เนื่องจากทรามาดอลออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท การใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจึงสามารถทำให้เกิดพฤติกรรมอยากยา หรือเกิดการเสพติดได้ ส่งผลให้อาจเกิดการนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ ในปริมาณที่สูงกว่าปกติหรือเกินขนาด ซึ่งผลข้างเคียงจากการที่ใช้ยาทรามาดอลเกินขนาดมีตั้งเเต่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
ผลข้างเคียงที่ไม่รุนเเรง : คลื่นไส้ อาเจียน , ง่วงซึม , ปวดศีรษะ , เฉื่อยชา , มือสั่น ใจสั่น , ความดันโลหิตแปรปรวน , ท้องผูก
ผลข้างเคียงรุนเเรง : ชัก โคม่า , หัวใจเต้นเร็ว , รูม่านตาหด , กล้ามเนื้อเกร็งตัว , ประสาทหลอน , ระบบหายใจและหลอดเลือดล้มเหลว , ระบบหายใจทำงานช้าจนถึงขั้นเสียชีวิต
อาการถอนยาทรามาดอลนั้นสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการเดียวกับอาการถอนยาในกลุ่มโอปิออยด์ โดยการค่อยๆลดขนาดยาลง และให้ยารักษาตามอาการ ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ หากท่านหรือคนในครอบครัวประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติดปรึกษา The Loft 4Rest ( เดอะ ล็อฟท์ ฟอร์ เรส ) สถานฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้ที่มีปัญหาจากสารเสพติด เรามีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ พร้อมให้คำแนะนำและปรึกษา
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
89/75-76 ซอยวงศ์สว่าง19 (ซอยวัดหลวง) แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800
098-916-1282
www.theloft4rest.com
จันทร์ - อาทิตย์: 08.00 -17.00 น.